ปลดล็อกกัญชา ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ได้เสรี 100%

        นางสาวเพ็ญนภา เข็มตรง รองผู้อำนวยการสำนักข่าว ส่วนปฏิบัติการและบริหารข้อมูลข่าวสาร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ ปลดล็อกกัญชา-กัญชงออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เกิดข้อกังวลว่าอาจมีการใช้กัญชา-กัญชงในทางที่ผิดและเกิดผลกระทบต่อสังคมตามมา
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการพืชกัญชาและกัญชง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำหนดมาตรการและควบคุมการใช้ประโยชน์พืชดังกล่าวให้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลคือ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และเศรษฐกิจ โดยไม่สนับสนุนให้เกิดการใช้ในเชิงสันทนาการหรือมอมเมา โดยจากการหารือในครั้งแรกได้มีข้อกังวลเรื่องการใช้ในทางที่ผิด ให้ทุกหน่วยงานเร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน
การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ 
    ปัจจุบันมีการบรรจุยาที่มีส่วนผสมของกัญชาในบัญชียาหลัก 8 ตำรับ จ่ายยาให้ผู้ป่วยแล้วกว่า 1 แสนราย ในโรคดังนี้
   - ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด
   - โรคลมชักรักษายาก
   - ภาวะปวดประสาท
     และในอนาคตจะนำไปใช้ในกลุ่ม โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โรคมะเร็ง รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผลแผนไทย
     นอกจากนี้มีตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม 16 ตำรับ เช่น ศุขไสยาสน์ ทำลายพระสุเมรุ ช่วยบรรเทาอาการปวด เจริญอาหาร และช่วยเรื่องการนอน เป็นต้น    
     ทั้งนี้การใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
การใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
   - ต้นน้ำ สามารถสร้างรายได้ตั้งแต่การปลูกในระดับครัวเรือน/ชุมชน/วิสาหกิจชุมชน เช่น การเพาะเมล็ดพันธุ์ การปลูก/ขาย ต้นหรือใบ
   - กลางน้ำ ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เช่น อาหาร หรือพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง ยา (ตอนนี้ อ.ย. อนุมัติแล้ว 1,181 รายการ)
   - ปลายน้ำมีผลิตภัณฑ์กัญชาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการรักษาผู้ป่วยด้วยกัญชา ต่อยอด Medical Wellness hub ของอาเซียน
ข้อกังวลต่อการใช้กัญชาผิดวัตถุประสงค์
    การใช้กัญชาในเชิงสันทนาการอาจก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพ เช่น ภาวะพิษเฉียบพลัน อาการทางจิต เกิดการเสพติด และเกิดอุบัติเหตุจราจร 
    นอกจากนี้ กรมการแพทย์ระบุว่า เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรใช้กัญชา เนื่องจากมีผลต่อสมอง การเรียนรู้ ระบบประสาทและพัฒนาการ รวมถึงขอให้งดใช้ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวช และหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งขอให้งดขับรถ งดใช้ เครื่องจักรภายนะ 6 ชั่วโมง
กัญชาไม่ได้เสรี 100% มีกฎหมายกำกับดูแล เช่น
    - การนำกัญชาไปปรุงอาหารหน้าร้าน
       ตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 ซึ่งหมายรวมถึง ตลาด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และการจำหน่ายในที่ หรือทางสาธารณะ จะต้องแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร  ตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
       นอกจากนี้ จะต้องแสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชา ให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง                      หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบด้วยการระบุข้อความ “เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี          ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา  เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสา THC หรือสาร CBDควรระวังในการรับประทาน”“อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”และห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค
     - เครื่องสำอางกัญชา
      สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การใช้ส่วนของกัญชาในเครื่องสำอาง พ.ศ.2564  โดยใช้ส่วนต่างๆ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วล้างออกนั้น 1.ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในช่องปาก หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ บริเวณจุดซ่อนเร้น และ 2. เครื่องสำอางพร้อมใช้จะต้องมีสาร THC ปนเปื้อนไม่เกิน 0.2%
       ทั้งนี้ จะต้องมีการแสดงสรรพคุณบนฉลากหรือโฆษณาเครื่องสำอาง อาทิ “ช่วยให้ความนุ่มลื่นแก่ผิว”  “บำรุง ดูแลเส้นผมหรือหนังศีรษะ” “แต่งกลิ่นจากกัญชาหรือกัญชง” เป็นต้น
     - การใช้เพื่อสันทนาการในที่สาธารณะ
       การสูบกัญชา ไม่มีความผิด แต่การสูบกัญชาในที่สาธารณะ รบกวนสิทธิผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท นอกจากนี้การสูบกัญชาแบบม้วนยังไม่สามารถทำได้ ก็จะลดการใช้ที่สาธารณะไปได้ ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานออกกฎกติกาของตัวเองเพื่อควบคุมการใช้กัญชาในสถานประกอบการ
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นๆ ในการควบคุม ดังนี้
     ถ้าเอามาสกัดน้ำมันกัญชาหรือสารในกัญชา ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2564 และสารสกัดกัญชายังเป็นยาเสพติด เมื่อเป็นยาเสพติดจึงไม่สามารถจำหน่ายจ่ายแจกได้
   จะเอามาทำอาหาร ทำเค้ก ทำเครื่องดื่มใส่ขวดขายต้องขอตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522
   จะเอามาทำเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2562
   จะเอามาผสมหรือผลิตเครื่องสำอาง ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558
   จะเอามาทำยาสูตรต่างๆ ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ยา 2510
  การนำเข้าเมล็ดพันธ์ต้นพันธุ์ก็ต้องขออนุญาตจากกระทรวงเกษตรตาม พ.ร.บ.กักพืช และ พ.ร.บ.พันธุ์พืช
เตรียมออกประกาศ “สมุนไพรควบคุม”        
     นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมเนื้อหาข้อกฎหมายต่างๆในส่วนของกัญชา จัดทำเป็น ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา ) เพื่ออุดช่วงโหว่ ช่วงสุญญากาศ ระหว่างร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. โดยหัวใจหลักคือ มุ่งเน้น การจำกัด การครอบครอง ช่อดอกของกัญชา ซึ่งจะมีรายละเอียด ในการควบคุมการครอบครอง ในฐานะบุคคล, วิสาหกิจชุมชน ป้องกันการเสพกัญชา หรือการใช้เพื่อสันทนาการ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ลงนาม จากนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้ทันที คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์
                                                                                                                            เรียบเรียง/ข่าว : ธวัลรัตน์ แดงเจริญ นักประชาสัมพันธ์
                                                                                                                                          แหล่งข้อมูล : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ginfo
สนง.ป้องกันและปราบปราม
กยศ
e-government
มหาดไทย
พาณิชย์
เกษตร
ทรัพยากรธรรมชาติ
แรงงาน
อุตสาหกรรม
ยุติธรรม
ดิจิทัล