ทำความเข้าใจกฎหมายจราจรฉบับใหม่

        นางสาวศิริลักษณ์ รัตนวโรภาส ผู้อำนวยการสำนักข่าว ส่วนปฏิบัติการและบริหารข้อมูลข่าวสาร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วสำหรับกฎหมายจราจรฉบับใหม่ หรือ พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ.2565 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 และให้มีผลบังคับใช้ใน 120 วัน นับจากวันประกาศ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา
     สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับใหม่ จะเน้นการเพิ่มโทษในข้อหาที่กระทบกับความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน และการเพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำ 
กฎหมายจราจรใหม่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 มีรายละเอียด ดังนี้
1.    เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ
•    กระทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
•    หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษ เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000 – 100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับ 
•    ในกรณีกระทำผิดครั้งแรก บทกำหนดโทษเท่าเดิมคือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท แต่กฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดโทษกรณีกระทำผิดซ้ำ
2.    เพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยง ในการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง
•    เพิ่มอัตราโทษปรับ
        - ขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (เดิม ปรับ 500-1,000 บาท)
        - ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (เดิม ปรับ 500-1,000 บาท)
        - ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (เดิม ปรับ 500-1,000 บาท
        - ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (เดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
        - จอดรถในที่ห้ามจอด ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (เดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)
        - ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (เดิม ปรับ 400 บาท)
        - ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (เดิม ปรับ 400 บาท)
•    เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น
   เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ (เดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 - 10,000 บาท)
3.    กำหนดความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทางเพิ่มเติมดังนี้
•    เพิ่มความผิดฐานอื่นนอกเหนือจากการแข่งรถในทางให้มีบทกำหนดโทษ โดยอ้างอิงจากบทกำหนดโทษในความผิด “แข่งรถในทาง” ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
•    ความผิดฐานพยายามแข่งรถ กำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ร่วมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทาง ด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป ถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” หากมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- นัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน หรือ
- รถดัดแปลง /ปรับแต่ง มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ
- มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง
- มีโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง
•    ผู้จัด ผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ
- มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (เดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000-10,000 บาท)
•    ร้านรับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง
- ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน มีโทษ 2  ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง
4.    กำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย
•    รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้
•    รถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้ากรณีเป็นรถกระบะสองตอนผู้โดยสารตอนหลัง ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยด้วย
•    การนั่งบริเวณแคป หรือนั่งท้ายกระบะ สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยแต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด 
* หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
คาร์ซีทของเด็ก
     สำหรับที่ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำประกาศและลงประกาศให้ประชาชนทราบในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
     อย่างไรก็ตามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนจะประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐาน/ลดอัตราภาษีของที่นั่งนิรภัย รวมถึงวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้เพื่อจัดทำประกาศ เรื่อง การใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565
3 เดือนแรกยังใช้บทกำหนดโทษเดิม
    อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจราจรฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้วแต่เพื่อทำความเข้าใจแก่ประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านในระยะเวลา 3 เดือนภายหลังจากมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่นั้น  ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะยังใช้เกณฑ์ค่าปรับใบสั่งจราจรตามกฎหมายเดิมไปก่อน เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงในการใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565 นี้
ขับเร็ว-ฝ่าไฟแดง ส่งขึ้นศาลแทนออกใบสั่ง
     นอกจากนี้ ครม.ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีสาระสำคัญ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 
    ความผิดจราจรบางฐานที่กำหนดไว้เฉพาะ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ขับรถในระหว่างใบขับขี่ถูกพักใช้ เพิกถอน หรือหมดอายุไม่ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจร ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด ร่าง พ.ร.บ.นี้ กำหนดห้ามไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับหรือออกใบสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่ให้ผู้นั้นไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป
กลุ่มที่ 2
    ความผิดอื่นที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยทางหลวง และกฎหมายว่าด้วย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยไม่รวมถึงกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ให้เปรียบเทียบปรับได้ แต่หากผู้กระทำผิดไม่ยอมให้เปรียบเทียบปรับหรือไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป
กลุ่มที่ 3
    ความผิดนอกจากกลุ่มที่ 1 และ 2 ที่มีความร้ายแรง เช่น ความผิดฐานเมาแล้วขับ กำหนดให้สอบสวนและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตาม ป.วิ.อาญา หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงแล้วแต่กรณี โดยศาลอาจกำหนดมาตรการลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้เพิ่มเติม แก่ผู้กระทำความผิดได้
     ทั้งนี้ คดีจราจรกลุ่มที่ 1 และ 2 ให้พนักงานสอบสวนส่งคู่ฉบับ ใบนัดให้ศาลภายใน 3 วันนับแต่วันที่ออกใบนัด แต่หากผู้ต้องหายอมชำระค่าปรับ ก็ให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในวันที่มาศาล หากจำเลยรับสารภาพศาลพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้ แต่ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การหรือให้การปฏิเสธ ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ถ้าเพียงพอให้ศาลพิพากษาคดีทันที ถ้าไม่เพียงพอให้นัดสืบพยานต่อไป และศาลมีอำนาจใช้มาตรการลงโทษแก่จำเลยซึ่งมีความผิดนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้นๆ ได้ เช่น ยึด พักใช้ หรือ เพิกถอน ใบอนุญาตขับขี่ ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือ สาธารณประโยชน์ให้เข้ารับการศึกษาอบรมด้านการจราจร เป็นต้น
    ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันสถิติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีจราจรในแต่ละปีมีจำนวนมาก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษของกฎหมาย ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรและผลกระทบถึงความปลอดภัยต่อชีวิตร่างกายและจิตใจของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลทั่วไป อีกทั้งมาตรการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ผู้กระทำผิดชำระค่าปรับตามกฎหมายน้อยมาก เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบสั่งต่อผู้กระทำผิดกฎจราจรเพื่อลงโทษปรับตามกฎหมาย
                                                                                                                             เรียบเรียง/ข่าว : ธวัลรัตน์ แดงเจริญ นักประชาสัมพันธ์
                                                                                                                                          แหล่งข้อมูล : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ginfo
สนง.ป้องกันและปราบปราม
กยศ
e-government
มหาดไทย
พาณิชย์
เกษตร
ทรัพยากรธรรมชาติ
แรงงาน
อุตสาหกรรม
ยุติธรรม
ดิจิทัล