การเฝ้าระวัง โควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" พร้อมปรับมาตรการควบคุมโควิด-19 ให้สอดคล้องกับการเปิดประเทศ

          นายภควัต พรหมเพ็ญ รองผู้อำนวยการสำนักข่าว ส่วนปฏิบัติการและบริหารข้อมูลข่าวสาร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ครม. มีมติ แก้มติศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. โดยให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าราชอาณาจักร ให้กลับไปใช้การตรวจแบบ RT-PCR เนื่องจากสถานการณ์ “โอไมครอน” กำลังระบาด
 เฝ้าระวังโควิดกลายพันธุ์ “โอไมครอน” (Omicron)
     เนื่องจากสถานการณ์การเชื้อไวรัสโควิด “โอไมครอน” ทำให้ประเทศ ต่าง ๆ เริ่มออกมาตรการเฝ้าระวัง และจำกัดการเดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มงวดมากขึ้น
     โควิดสายพันธุ์ โอไมครอน (Omicron) หรือ B.1.1.529  ที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่าเป็นเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ชนิดใหม่ ถูกจัดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) พบเชื้อตัวนี้เป็นครั้งแรกที่จังหวัดโกเต็ง ในแอฟริกาใต้ เมื่อ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา 
การแพร่ระบาด โอไมครอน 
•    การเป็นเชื้อไวรัส ซาร์ส-โควี-2 ที่กลายพันธุ์ไปจากเดิมมากที่สุด
•    พันธุกรรมของโอไมครอน กลายพันธุ์ไปมากถึง 50 ตำแหน่ง และ จำนวน 32 ตำแหน่ง อยู่บนโปรตีนหนามที่สามารถจับกับเซลล์มนุษย์ 
•    สามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่าเดลต้ามากถึง 2 เท่า 
•    มีแนวโน้มในการลดประสิทธิภาพของวัคซีน แต่ยังป้องกันอาการป่วยรุนแรง และ ป้องกันการเสียชีวิตได้ 
•    เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่อาจจะติดเชื้อซ้ำเมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่น 
ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ได้รับการยืนยันเพิ่มมากขึ้นในอย่างน้อย 18 ประเทศทั่วโลก
•    ทวีปแอฟริกา : แอฟริกาใต้, บอตสวานา, มาลาวี, เอสวาตินี, โมซัมบิก, ซิมบับเว, เลโซโท และ นามิเบีย
•    ทวีปยุโรป : อิตาลี, อังกฤษ, เดนมาร์ก, เยอรมนี, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ และ สาธารณรัฐเช็ก
•    ทวีปเอเชีย : ฮ่องกง และ อิสราเอล
•    ทวีปออสเตรเลีย : ออสเตรเลีย
การเดินทางเข้าประเทศไทย
1. สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกา ประเทศที่พบสายพันธุ์โอไมครอนและประเทศที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ จำนวน 8 ประเทศ ห้ามเข้าไทยหลังวันที่ 1 ธ.ค. ยกเว้นเฉพาะคนไทยเท่านั้น
8 ประเทศมีดังนี้ 
1.    บอตสวานา 
2.    เอสวาตินี 
3.    เลโซโท 
4.    มาลาวี 
5.    โมซัมบิก 
6.    นามิเบีย 
7.    แอฟริกาใต้ 
8.    ซิมบับเว
ข้อปฏิบัติดังนี้
•    ผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว สั่งกักตัว เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2564
•    ไม่อนุญาตให้เข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564
•    ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2564 (ศปก.สธ.ประกาศประเทศกลุ่มเสี่ยงและการห้ามเข้าประเทศ)
2. ประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา นอกเหนือจาก 8 ประเทศดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขตามรูปแบบการเข้าราชอาณาจักร มีการกำหนดเงื่อนไขการเข้า-ออกประเทศดังนี้ 
•    ไม่อนุญาตให้เข้าในรูปแบบ Test and Go  (กต.ไม่ได้ประกาศประเทศเหล่านี้)
•    ไม่อนุญาตให้เข้าในรูปแบบ Sandbox 
•    สามารถเข้าราชอาณาจักรได้โดยการกักตัวในสถานกักกันที่ราชการกำหนดเท่านั้น
•    ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน ตรวจ 3 ครั้ง วันที่ วันที่ 0-1, 5-6 และ 12-13
ข้อปฏิบัติดังนี้
•    ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 2564
•    ผู้ที่ได้รับอนุญาตทุกประเภท ให้ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาต จนถึง 15 ธ.ค. 2564 (หลังจากนั้นต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน)
     นอกจากนี้ครม.เห็นชอบให้ใช้วิธีตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR กับผู้เดินทางเข้าประเทศเหมือนเดิม ซึ่งทางปฏิบัติยังใช้วิธีนี้อยู่เพราะตามมติ ศบค.เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ให้ใช้การตรวจแบบ ATK แทน RT-PCR จะไม่มีผลบังคับวันที่ 16 ธ.ค. โดยเราจะใช้วิธีตรวจแบบนี้จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง
การปรับมาตรการควบคุมโควิด-19 จากที่ประชุม ศบค.
     เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 15 เนื่องจากมีช่วงระยะเวลาคาบเกี่ยวกับเทศกาลปีใหม่ คือ ระหว่าง ธ.ค. 2564 กับ ม.ค. 2565 จึงเห็นควรพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน ตั้งแต่ วันที่ 1 ธ.ค. 2564 - วันที่ 31 ม.ค. 2565 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าทีและการดำเนินชีวิตของประชาชน
ปรับพื้นที่สีใหม่ทั้งหมด 
•    ยกเลิกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 

•    พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) เดิม 39 จังหวัด ปรับลดเป็น 23 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น จันทบุรี  ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง ยะลา ระยอง สงขลา สตูล สระบุรี สระแก้ว และ สุราษฎร์ธานี
•    พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) คงเดิม 23 จังหวัด ประกอบด้วยฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ ชลบุรี นครนายก นครปฐม พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อุดรธานี และอุบลราชธานี
•    พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 5 จังหวัด ปรับเพิ่มเป็น 24 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ พะเยา พิจิตร แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุโขทัย สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และ อำนาจเจริญ
•    พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) เดิม 4 จังหวัด ปรับเพิ่มเป็น 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ กระบี่ กาญจนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา ภูเก็ต และจังหวัดอื่น ๆ อีก 19 จังหวัด แต่เปิดเพียงบางอำเภอ โดยพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวให้ใช้มาตรการเช่นเดียวกับพื้นที่เฝ้าระวัง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564
•    การเปิดสถานบันเทิง ซึ่งอยู่ระหว่างให้สถานประกอบการเตรียมความพร้อมมาตรการด้านสาธารณสุข หากมีความพร้อมจะพิจารณาอนุญาตให้เปิดได้ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายพื้นที่
•    นำเข้าแรงงานข้ามชาติ ศบค. รับทราบการดำเนินการของกระทรวงแรงงานที่จะนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 424,703 คน ภายใต้บันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศต้นทาง (MOU) เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าประเทศและเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการควบคุมโรค โดยจะมีการเปิดพื้นที่กักตัวใน 5 จังหวัด คือ ตาก ระนอง หนองคาย มุกดาหาร และสระแก้ว โดยจะเริ่มวันที่ 1 ธ.ค. 2564 
8 ขั้นตอน นำแรงงานต่างด้าว เข้ามาทำงานกับนายจ้างในระบบ MOU 
1.    ยื่นแบบคำร้องขอนำเข้าคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศโดยสามารถยื่นได้ที่กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพฯ 1 - 10 
2.    ส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งกรมการจัดหางานจะมีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านสถานทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง
3.    ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และทำ Name List ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย และกรมการจัดหางานจัดส่ง Name List ให้กับนายจ้าง

4.    เตรียมเอกสารยื่นขอใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ได้แก่ หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 (ถ้ามี) หลักฐานการซื้อประกันสุขภาพบริษัทประกันภัย 4 เดือน โดยนายจ้างต้องแจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคม
5.    การอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ กรมการจัดหางานจะมีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทาง เพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
6.    การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร จะต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงานพร้อมบัญชีรายชื่อ ผลตรวจโควิด-19 (วิธี RT-PCR) ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้ามา หรือผลรับรองการตรวจ ATK หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 (ถ้ามี) ตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 2 ปี เดินทางไปยังสถานที่กักตัวโดยยานพาหนะที่แจ้งไว้
7.    สถานที่กักตัว กรณีฉีดวัคซีนครบโดส เข้ารับการกักตัวอย่างน้อย 7 วัน ขณะอยู่ในสถานกักตัวตรวจโรคโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง 
•    ครั้งที่ 1 ไม่เกินวันแรกของการกักตัว 
•    ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-7 ของระยะเวลากักตัว
กรณีฉีดวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ หรือยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข้ารับการกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ขณะอยู่ในสถานที่กักตัวต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง 
•    ครั้งที่ 1 ไม่เกินวันแรกของการกักตัว 
•    ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 12-13 ของระยะเวลาที่ถูกกักตัวกรณีตรวจโรคโควิด-19 พบเชื้อ ให้เข้ารับการรักษาโรคโดยค่าใช้จ่ายนายจ้างและกรมธรรม์เป็นผู้รับผิดชอบ
8.    เมื่อคนต่างด้าวกักตัวครบกำหนด นายจ้างต้องไปรับคนต่างด้าวมายังสถานที่ทำงาน เพื่อทำการอบรมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์และแจ้งเข้าทำงานขอรับในอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด
ครม.อนุมัติหลักการออกวีซ่าประเภทใหม่ Medical Treatment Visa รับต่างชาติรักษาตัวในไทย
     หลักการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี (Medical Treatment Visa) รหัส Non-MT ซึ่งการตรวจลงตราฯ จะมีอายุ 1 ปี  มีผู้ติดตามไม่เกิน 3 ราย เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว ไม่สามารถขยายอายุต่อได้ ระยะเวลาพำนักในประเทศไทย ครั้งละไม่เกิน 90 วัน เพื่อสอดรับนโยบาย Medical Hub
อัตราค่าธรรมเนียม
•    การขอวีซ่า รายละ 6,000 บาท 
•    ถ้าขออยู่ต่อก็จะมีค่าธรรมเนียมรายละ 1,900 บาท  
     ทั้งนี้กำหนดประเภทการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาลประเภทใหม่ให้สอดรับกับระยะเวลาและกระบวนการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลและมีความจำเป็นต้องเข้ารับการดูแลต่อเนื่อง และ ผู้ติดตามผู้ป่วย
     กลุ่มโรคที่อนุญาตให้เข้ามารับการขอรับการตรวจลงตราฯ เป็นกลุ่มโรค / หัตถการ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ มีระยะเวลาการรักษาต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า 90 วัน อาทิ 
•    เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ 
•    โรคระบบหัวใจหลอดเลือด 
•    โรคมะเร็ง 
•    ทันตกรรม 
•    ศัลยกรรมความงาม 
     ผู้ป่วยและผู้ติดตาม จะต้องมีหลักฐานทางการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายภายในประเทศเป็นเงินสดไม่น้อยกว่ารายละ 800,000 บาท (Bank Statement) และมีการนัดหมายกับสถานพยาบาลล่วงหน้า 30 วัน รวมถึงแสดงหลักฐานประกันภัยกรณีอุบัติเหตุและการช่วยเหลือฉุกเฉินรวมความคุ้มครองโรคโควิด-19 ในประเทศไทย วงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000,000 บาท
                                                                                                                             เรียบเรียง/ข่าว : ธวัลรัตน์ แดงเจริญ นักประชาสัมพันธ์
                                                                                                                                          แหล่งข้อมูล : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ginfo
สนง.ป้องกันและปราบปราม
กยศ
e-government
มหาดไทย
พาณิชย์
เกษตร
ทรัพยากรธรรมชาติ
แรงงาน
อุตสาหกรรม
ยุติธรรม
ดิจิทัล