รัฐบาลบูรณาการทุกหน่วยแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูง

            นายภควัต พรหมเพ็ญ รองผู้อำนวยการสำนักข่าว ส่วนปฏิบัติการและบริหารข้อมูลข่าวสาร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการแก้ปัญหาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารปรับตัวสูงขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะ อาหารสด ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู เนื้อไก่ และ ไข่ไก่ เป็นต้น 
     กรมการค้าภายในได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่วมกัน กำหนดราคาจำหน่ายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม และราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนไก่สด เป็นระยะเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2565
ราคาไก่
•    ราคาจำหน่ายไก่สดมีชีวิต จำหน่ายในราคา 33.50 บาทต่อกิโลกรัม 
•    ไก่สด รวมเครื่องในและไม่รวมเครื่องใน จำหน่าย 60-65 บาทต่อกิโลกรัม 
•    น่องติดสะโพก น่อง สะโพก จำหน่าย 60-65 บาทต่อกิโลกรัม 
•    เนื้ออก จำหน่าย 65-70 บาทต่อกิโลกรัม 
ราคาไข่ไก่
     หารือสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่และกรมปศุสัตว์ เพื่อหารือโครงสร้างต้นทุนการเลี้ยง ผลผลิต และการประกาศปรับราคาไข่คละเป็น 3 บาทต่อฟองนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลต้นทุนเลี้ยงไข่ไก่อยู่ที่ 2.85 บาทต่อฟอง ทั้งนี้จะขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 13 มกราคม 2564 
ราคาเนื้อหมู
ในส่วนของราคาเนื้อหมู กรมการค้าภายใน ได้จำหน่ายหมูราคาถูกผ่าน “โครงการพาณิชย์ลดราคาหมู” ออกไปถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565 นี้ 
•    กรุงเทพฯ มีจุดขายหมู กก.ละ 150 บาท ทั้งหมด 116 จุด แยกเป็นรถโมบายตระเวนตามพื้นที่ต่าง ๆ 50 คัน และตั้งจุดจำหน่ายอีก 50 จุด 
•    ส่วนต่างจังหวัดมี 551 จุด รวมเป็นทั้งหมด 667 จุด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนสามารถซื้อเนื้อหมูราคาถูกกว่าท้องตลาดได้
4 ปัจจัยทำไมหมูแพง?
1. การเกิดการระบาดของโรคในสุกร
•    โรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) โรคระบบสืบพันธุ์ทางเดินหายใจ ในสุกร (โรคติดต่อ)
•    โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED)
•    โรคอหิวาต์ในสุกร (Classical Swine Fever : CSF) 
•    โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ( African Swine Fever : ASF)
การเกิดโรคระบาดต่าง ๆ  ทำให้สุกรแม่พันธุ์เสียหายมากถึง 40% จากจำนวน 1.1 ล้านตัว เหลือเพียง 6.6 แสนตัว ส่งผลต่อเนื่องถึงปริมาณผลผลิตสุกรขุนปรับลดลงถึง 30% จากปี 2563 จากที่เคยมีจำนวนสุกรประมาณ 18-19 ล้านตัว/ปี เหลือเพียง 14.7 ล้านตัว/ปีเท่านั้น อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนการเลี้ยงต่อตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย
2. สถานการณ์โควิด – 19 และสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา 
สถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ ฟาร์มเสียหาย มีการปิดปรับปรุง สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตจมน้ำ นอกจากนี้สถานการณ์โควิด - 19  ทำให้การบริโภคลดลงผู้เลี้ยงจึงลดจำนวนหมูที่เลี้ยง เมื่อกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจความต้องการกลับมา แต่กำลังผลิตไม่สามารถตอบสนองได้ทัน
3. ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกประเภท
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบหลักในอาหารสัตว์ราคาขึ้นต่อเนื่อง จากเฉลี่ย 8.87 บาท/กก. ในปลายปี 2563 เป็น 9.95 บาท/กก. ปลายปี 2564 และ 10.66 บาทในต้นปี 2565 และหากรวมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกชนิดเพิ่มขึ้น รวม 7.14% 
4. การตรวจสอบและการนำเข้า - ส่งออก ของสุกรที่มีความเข้มงวดมากขึ้น
การควบคุมและกำจัดสุกรที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ทำให้มีปริมาณสุกรที่ลดลง ต้องมีการพักคอกสัตว์ก่อนทำการเลี้ยงรุ่นการผลิตใหม่
แนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐ จัดเตรียมมาตรการ 3 ระยะเพื่อแก้ไขปัญหา
มาตรการเร่งด่วน
•    การห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 ถึง วันที่ 5 เมษายน 2565 เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูภายในประเทศ 
•    การช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี 
•    การเร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกร เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน เร่งกระจายแม่พันธุ์และลูกสุกรขุนให้กับรายย่อยที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่ กำหนดโซนเลี้ยงและออกมาตรการบังคับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมโรค และเร่งรัดการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค
มาตรการระยะสั้น
•    การส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การขยายกำลังผลิตแม่สุกร สนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน เร่งเดินหน้าการศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด
มาตรการระยะยาว
•    กระทรวงเกษตรฯ จะผลักดันการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค 
•    สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. ในโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยเพื่อช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งการรวมกลุ่ม สนับสนุน และหาตลาดในราคาที่เกษตรกรอยู่ได้อย่างดี
ครม.เห็นชอบอนุมัติงบกลางปี 65 จำนวน 574.11 ล้านบาท เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) และโรคระบาดร้ายแรงในสุกร หรือหมูป่า ซึ่งเป็นโรคติดต่อในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่รุนแรง โดยจะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตั้งแต่ วันที่23 มีนาคม - 15 ตุลาคม 2564 ในพื้นที่ 56 จังหวัด
•    ภาคกลาง 10 จังหวัด ปทุมธานี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา สระบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และ สุพรรณบุรี
•    ภาคตะวันออก 1 จังหวัด สระแก้ว
•    ภาคตะวันตก 3 จังหวัด เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์
•    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ หนองคาย  บึงกาฬ ร้อยเอ็ด นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร และยโสธร
•    ภาคเหนือ 12 จังหวัด เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
•    ภาคใต้ 10 จังหวัด สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง พังงา และสงขลา
     อย่างไรก็ตามราคาสินค้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้นนั้น ไม่เพียงแต่ประเทศไทยแต่ยังรวมไปถึงอีกหลายประเทศทั่วโลก เพราะราคาสินค้าจะปรับตากลไกของตลาดอาหารโลก ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีราคาอาหารโลก FAO Food Price Index: FFPI) ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานของปี 2564 ไว้ ซึ่งราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นผลกระทบมาจากต้นทุนในการเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือยารักษาโรคต่าง ๆ  เพิ่มสูงขึ้น  
ราคาก๊าซ
     ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG โดยให้คงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ไปถึงวันที่ 31 มีนาคม 65
     แม้ว่าราคาก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซ LPG ตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดย ณ วันที่ 5 มกราคม 2565 อยู่ที่ 682.90 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบได้กับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ 412 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม
     ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG พร้อมขอความร่วมมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พิจารณาช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ ปตท.ดำเนินการต่อไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
                                                                                                                             เรียบเรียง/ข่าว : ธวัลรัตน์ แดงเจริญ นักประชาสัมพันธ์
                                                                                                                                          แหล่งข้อมูล : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ginfo
สนง.ป้องกันและปราบปราม
กยศ
e-government
มหาดไทย
พาณิชย์
เกษตร
ทรัพยากรธรรมชาติ
แรงงาน
อุตสาหกรรม
ยุติธรรม
ดิจิทัล