คณะลูกเสือจังหวัดสระบุรีจัดพิธีวางพวงมาลา ถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

บริเวณสนามโรงเรียนหน้าพระลาน(พิบูลย์สงเคราะห์) ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี นายเอกพร  จุ้ยสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานพิธีวางพวงมาลา ถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า พระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย โดยมีคณะลูกเสือ-เนตรนารี ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ-เนตรนารี เข้าร่วมพิธีเพื่อน้อมรำลึกและสนองพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้ทรงทำคุณประโยชน์แก่ชาติไทยไว้นานัปการ
        พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๓ ทรงเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบสันติวงศ์ เป็นรัชกาลที่ ๖ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๕๓ ขณะพระชนมายุ ๓๐ พรรษา ทรงปกครองสยามประเทศได้ ๑๖ ปี แม้จะทรงครองราชย์ด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี แต่ก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจไว้หลายประการ ดังนี้ ด้านการปกครอง ทรงตั้งกระทรวงทหารเรือ กระทรวงมุรธาธร กรมศิลปากร ปรับปรุงกระทรวงโยธาธิการ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงคมนาคม ทรงจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยโปรดให้รวมมณฑลหลาย ๆ มณฑลเข้าด้วยกันเป็นภาคแต่ละภาคทรงแต่งตั้ง "อุปราช" ปกครอง ทรงสร้าง "ดุสิตธานี" เป็นนครจำลองเพื่อทดลองรูปแบบการปกครองระบอบประซาธิปไตย
             ด้านการศึกษา ทรงริเริ่มสร้างโรงเรียนขึ้นแทนวัดประจำพระองค์ ได้แก่ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งปัจจุบัน คือ วชิราวุธวิทยาลัย ทั้งยังทรงสนับสนุนกิจการของโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ปัจจุบัน คือ โรงเรียน .ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) และในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะ "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยด้านการศาสนา ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับธรรมะ เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสจำนวนมาก ได้ทรงจัดระเบียบวิธีการสวดมนต์สำหรับทหาร เสือป่า นักเรียนและลูกเสือซึ่งใช้เป็นระเบียบแบบแผนมาจนถึงปัจจุบัน   ด้านเศรษฐกิจและสาธารณูปโภค ทรงจัดตั้งคลังออมสิน ซึ่งต่อมาคือธนาคารออมสิน การสหกรณ์ กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ต่อมายกฐานะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร และกรมตรวจเงินแผ่นดิน ทรงพัฒนาการคมนาคมขนส่งโดยทรงตั้งกรมรถไฟหลวง ขยายเส้นทางรถฟสายต่าง ๆ เปิดสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นชุมทางรถไฟทุกสายในประเทศ วางรากฐานการคมนาคมทางอากาศ ทรงจัดตั้งกรมอากาศยาน ทรงสร้างสนามบินดอนเมือง ตั้งกรมทดน้ำ ต่อมาคือกรมชลประทาน ด้านอักษรศาสตร์ ได้ทรงสนับสนุนงานด้านวรรณกรรม จนทำให้งานด้านวรรณคดีเจริญรุ่งเรืองมาก ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทวรรณกรรม ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองไว้มากมายทั้งประเภทประวัติศาสตร์ โบราณคดี ปาฐกถา บทความ และกวีนิพนธ์ พระองค์ได้รับยกย่องว่าเป็น "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า"ด้านการลูกเสือ ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้น โดยกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนเข้ารับการฝึกอบรม เมื่อกองเสือป่าเจริญก้าวหน้ามั่นคงดีแล้ว ทรงมีพระราชดำริว่า ควรจะได้อบรมบุตรของเสือป่าแต่เยาว์ด้วย จึงได้ทรงมีพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ ให้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 


image รูปภาพ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ginfo
สนง.ป้องกันและปราบปราม
กยศ
e-government
มหาดไทย
พาณิชย์
เกษตร
ทรัพยากรธรรมชาติ
แรงงาน
อุตสาหกรรม
ยุติธรรม
ดิจิทัล