ฤดูฝนปี 2566 และ 12 มาตรการรับมือ

          นางสาวศิริลักษณ์ รัตนวโรภาส ผู้อำนวยการสำนักข่าว ส่วนปฏิบัติการและบริหารข้อมูลข่าวสาร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูร้อนและเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในปีนี้ จะน้อยกว่าค่าปกติเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 และน้อยกว่าปี 2565 ที่ผ่านมา โดยช่วงประมาณกลางเดือน มิ.ย.-กลางเดือน ก.ค.จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง อาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน
ช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ และเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่
ทั้งนี้ ฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนต.ค. แต่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่น จนถึงเดือน ม.ค. 67
12 มาตรการรับมือฤดูฝน
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 66 ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 จำนวน 12 มาตรการ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการดังกล่าว เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบด้วย
1.    คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง (มี.ค. 66 เป็นต้นไป)
2.    บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก และเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ แผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน รวมทั้งหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองและการจ่ายเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหาย (ภายใน ส.ค. 66)
3.    ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง และเขื่อนระบายน้ำ สำหรับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของกลุ่มลุ่มน้ำและบริหารจัดการน้ำในช่วงภาวะวิกฤติ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน)
4.    ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานี โทรมาตรให้พร้อมใช้งาน (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน)
5.    เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ บุคลากร ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน)
6.    ตรวจความมั่นคงและปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน (ก่อนฤดูฝน - ตลอดช่วงฤดูฝน)
7.    เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ของทางน้ำ (ก่อนฤดูฝน - ตลอดช่วงฤดูฝน)
8.    ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน)
9.    เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน (ต.ค. – พ.ย. 66)
10.    สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ (ก่อนฤดูฝนและตลอดช่วงฤดูฝน)
11.    สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เครือข่ายต่าง ๆ และประชาชน (ก่อนฤดูฝน - ตลอดช่วงฤดูฝน)
12.    ติดตามประเมินผล และปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)
เตือนพื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลากจากฝนถล่ม
    กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศ ฉบับที่ 4/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก หลังพบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศลาวและกัมพูชา ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออกส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำนองไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 27 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1. ภาคเหนือ
•    จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มเก่า)
2. ภาคกลาง
•    จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอท่ายาง บ้านลาด และเมืองเพชรบุรี)
•    จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน และปราณบุรี)
3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
•    จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอเมืองสุรินทร์)
•    จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอเมืองบุรีรัมย์)
•    จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี และพิบูลมังสาหาร)
4. ภาคตะวันออก
•    จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี)
•    จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง และแกลง)
•    จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี)
•    จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด และเขาสมิง)
5. ภาคใต้
•    จังหวัดชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ)
•    จังหวัดระนอง (อำเภอกะเปอร์ เมืองระนอง และสุขสำราญ)
•    จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง)
•    จังหวัดภูเก็ต (อำเภอกะทู้ ถลาง และเมืองภูเก็ต)
•    จังหวัดกระบี่ (อำเภอเกาะลันตา คลองท่อม เมืองกระบี่ เหนือคลอง และอ่าวลึก)
•    จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง กันตัง และปะเหลียน)
•    จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า)
นายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร เยี่ยมผู้ประสบภัยหลังพายุถล่ม
    เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ได้เกิดพายุฝนกระหน่ำและลูกเห็บตก บริเวณบ้านเนินปอ หมู่ 1 ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร ทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ต้นไม้ล้ม ความแรงของลมทำให้พัดอาคารบ้านเรือนของชาวบ้านพังจำนวนมาก และพัดถล่มหลังคาโดมของ ร.ร.วัดเนินปอ พังถล่มลงมาทับร่างของนักเรียนและภารโรงที่กำลังมาซ้อมฟุตบอลมาหลบฝนจากตัวเลขล่าสุด (ณ วันที่ 23 พ.ค. 66 เวลา 11.32 น.)  เสียชีวิตแล้ว 7 บาดเจ็บอีก 18 ราย นับเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงสุดในรอบ 40 ปี 
โดยนายพยนต์ อัศวพิชยนต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ (วาตภัย) พร้อมทั้งได้ตั้งศูนย์รับบริจาคจากภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆไว้ที่เทศบาลตำบลเนินปอ รวมถึงยังสั่งการไปถึง อปท.ในทุกพื้นที่ สำรวจสิ่งก่อสร้าง ป้ายโฆษณาที่สร้างมาหลายปี หากไม่แข็งแรงให้ทำการรื้อถอนทันที เพื่อป้องกันให้การเกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก 
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะลงพื้นที่ไปเยี่ยมผู้ประสบวาตภัยที่จังหวัดพิจิตร ในวันที่ 24 พ.ค. 66  เพื่อไปดูสถานที่เกิดเหตุ พร้อมเยี่ยมผู้ป่วย และให้กำลังใจผู้ประสบภัย
                                                                                                                             เรียบเรียง/ข่าว : ธวัลรัตน์ แดงเจริญ นักประชาสัมพันธ์
                                                                                                                                         แหล่งข้อมูล : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ginfo
สนง.ป้องกันและปราบปราม
กยศ
e-government
มหาดไทย
พาณิชย์
เกษตร
ทรัพยากรธรรมชาติ
แรงงาน
อุตสาหกรรม
ยุติธรรม
ดิจิทัล