เกาะติดการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 2566

          นางสาวศิริลักษณ์ รัตนวโรภาส ผู้อำนวยการสำนักข่าว ส่วนปฏิบัติการและบริหารข้อมูลข่าวสาร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้กับคณะรัฐมนตรีโดยคาดการณ์ช่วงวัน ดังนี้
•    วันที่ 13 ก.ค. วันสุดท้ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองผลเลือกตั้ง 
•    วันที่ 20 ก.ค. ครม.พิจารณา พ.ร.ฎ. เปิดประชุมสภาฯ รวมถึงวันสุดท้ายให้ ส.ส. รายงานตัว
•    วันที่ 24 ก.ค. พิธีเปิดประชุมรัฐสภา 
•    วันที่ 25 ก.ค. เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร 
•    วันที่ 26 ก.ค. โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ 
•    วันที่ 3 ส.ค. เลือกนายกฯ 
•    วันที่ 10 ส.ค.  แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี 
•    วันที่ 11 ส.ค. ถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งเป็นการทำงานวันสุดท้ายของคณะรัฐมนตรีรักษาการ
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ระบุ ยังมีเวลาทำงานอีกนานพอสมควร โดยขอให้ตั้งใจทำงาน ทำงานให้บ่อยพูดให้น้อย ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป และขอบคุณทุกคน โดยจากนี้ให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมในการส่งต่องานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
MOU วาระร่วม 8 พรรคการเมือง 23 วาระ 5 ข้อปฏิบัติ 
    เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก้าวไกลแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้แถลงการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลและทำงานร่วมกันระหว่างพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ที่ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะร่วมผลักดัน “ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ประกอบไปด้วยวาระร่วม ดังต่อไปนี้
•    ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
•    ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ
•    ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยืดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
•    เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ
•    ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง
•    ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต
•    แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน
•    ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม
•    ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือหักใช้ชั่วคราว ซึ่งใบอนุมัติอนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GOP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรมและสินค้าไทย ให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
•    ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
•    ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
•    ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
•    จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting)
•    สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว
•    แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน
•    นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา
•    ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อวางผลการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
•    แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
•    ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม สอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
•    ยกระดับระบบสาธารณสุขเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพทั้งการส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ
•    ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
•    สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด
•    ดำเนินนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียน และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศไทยกับประเทศมหาอำนาจ
          โดยทุกพรรคเห็นพ้องกัน ผ่านการร่วมกันบริหารประเทศด้วย  5 แนวทางการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
•    ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน
•    ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที
•    ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
•    ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง
•    ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้ระบุภายหลังว่าการจัดทำบันทึกความร่วมมือนี้ เป็นแค่วาระร่วมกันขั้นต่ำ แต่ในขณะเดียวกันหลายประเด็นที่อาจจะทำให้ประชาชนต้องลำบาก และต้องการความเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมายที่ก้าวหน้า และการบริหารงานของพรรคก็จะมีวาระเฉพาะที่สามารถผลักดันได้เช่นเดียวกัน ภายหลังการลงนาม MOU จะเดินสายรับฟังพี่น้องประชาชน และจะเชิญพรรคร่วมเข้ารับฟังให้มากขึ้น เพราะต้องทำนโยบายร่วม ในการแถลงต่อรัฐสภา โดยรับประกันได้ว่าจะต้องเป็นคนที่เหมาะสมกับงาน 
กระแสความเห็น MOU จัดตั้งรัฐบาล
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลัง 8 พรรคการเมือง ลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล มองว่าเป็นการทำการบ้านและเตรียมความพร้อมของชุดนโยบายต่าง ๆ ที่เชื่อว่าจะออกมาทันทีหลังจากกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ ซึ่งส่วนนี้มีความสำคัญมากในแง่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศแบบไร้รอยต่อ สำหรับเนื้อหาของ MOU หอการค้าฯ มองเป็น 3 มิติสำคัญ ในการวางนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ คือ 
1)  มิติด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลชุดใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ผ่านประเด็นการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม ขณะเดียวกันยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเกิดการลงทุนและการจ้างงานเพิ่ม ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยทะยานส่วนกระแสวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ 
2) มิติด้านสังคม  แนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมโดยรวม ทั้ง การเตรียมผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม กระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ การแก้ไขปัญหายาเสพติด การยกระดับระบบสาธารณสุขเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ การปฏิรูประบบการศึกษา และการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero)
3) มิติด้านการเมือง ส่วนนี้จะเป็นการปฏิรูปการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของภาครัฐ ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยลดความขัดแย้งของสังคมได้มากขึ้น ทั้งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส 
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนจับตามองจากนี้คือกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่สามารถดำเนินการได้อย่างเรียบร้อยไม่ยืดเยื้อ เพื่อให้ประเด็นต่างๆ ที่ทุกพรรคได้ตกลงกันไว้ผ่าน MOU สามารถนำไปขับเคลื่อนในเชิงนโยบายและการปฏิบัติได้จริงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการเข้ามาเร่งจัดทำงบประมาณประจำปีเพื่อให้แผนงานและโครงการต่างๆ ของประเทศมีความต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก
                                                                                                                             เรียบเรียง/ข่าว : ธวัลรัตน์ แดงเจริญ นักประชาสัมพันธ์
                                                                                                                                          แหล่งข้อมูล : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ginfo
สนง.ป้องกันและปราบปราม
กยศ
e-government
มหาดไทย
พาณิชย์
เกษตร
ทรัพยากรธรรมชาติ
แรงงาน
อุตสาหกรรม
ยุติธรรม
ดิจิทัล