รัฐบาลยกระดับแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

          นางสาวสนิฎา ปานคงคา ผู้อำนวยการสำนักข่าว ส่วนปฏิบัติการและบริหารข้อมูลข่าวสาร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า จากสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีค่าเกินมาตรฐาน อยู่ระหว่าง 84.1 – 224.3 มคก./ลบ.ม. (ข้อมูลวัดคุณภาพอากาศตั้งแต่วันที่ 4 - 8 เมษายน 2567 ตลอด 24 ชม.) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยสาเหตุหลักมาจากมาจากฝุ่นควันข้ามพรมแดน หลังตรวจพบว่า จุด hot spot ในเมียนมากว่า 7,600 จุด ในลาวกว่า 5,000 จุด และในไทยราว 1,600 จุด ส่งผลให้ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินอัคคีภัยไฟป่า ตามขั้นของแผนการจัดการปัญหาวิกฤตมลภาวะทางอากาศ รวม 5 อำเภอ  โดยมุ่งเป้าไปที่พื้นที่ที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
ครม. ประกาศ 9 มาตรการ ยกระดับแก้ปัญหาฝุ่นภาคเหนือในช่วงวิกฤต 
    ครม. ประกาศยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤตประจำปี 2567 โดยให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกัน ผ่าน 9 มาตรการ ดังนี้ 
•    มาตรการที่ 1 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยทหารในพื้นที่ ระดมกำลังในการลาดตระเวนพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งจับกุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ลักลอบเผาป่าทุกกรณี
•    มาตรการที่ 2 ให้กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำกับดูแลกวดขัน บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจอย่างเคร่งครัด
•    มาตรการที่ 3 ให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติฯ สั่งการจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จัดชุดปฏิบัติการเฝ้าระวัง ลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา 
•    มาตรการที่ 4 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และให้ประกาศ Work From Home (WFH) ตามความจำเป็น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ
•    มาตรการที่ 5 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาตัดสิทธิการได้รับความช่วยเหลือชดเชยต่าง ๆ จากภาครัฐ หากตรวจพบว่ามีการเผาในพื้นที่เกษตรของตนเอง
•    มาตรการที่ 6 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่มความถี่ของปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง โดยเร่งด่วน และร่วมงานกับหน่วยงานความมั่นคง ในการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ให้เพียงพอ เพื่อช่วยเหลือในการดับไฟป่า
•    มาตรการที่ 7 ให้กระทรวงสาธารณสุข จัดชุดเคลื่อนที่ ลงเยี่ยมบ้าน ดูแลสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึง ทันที และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง
•    มาตรการที่ 8 ให้สำนักงบประมาณ พิจารณาสนับสนุนงบกลางให้แก่จังหวัดให้ทันต่อการแก้ไขปัญหาในช่วงสถานการณ์วิกฤต ปี 2567 ตามความเหมาะสม และจำเป็นเร่งด่วน
•    มาตรการที่ 9 กรณีหมอกควันข้ามแดน ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ ยกระดับการร่วมมือ และเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากประเทศกัมพูชาที่ยังมีการเผาป่าอยู่มาก เช่น พม่า และลาว ให้มีการลดการเผาป่าอย่างทันที โดยตั้ง KPI ที่ชัดเจน
ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทุกจังหวัดภาคเหนือ
    เปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะใน จ.เชียงใหม่ ที่ต้องรับผิดชอบ 8 อำเภอ ที่ประกาศภัยพิบัติ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จริงจัง และให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เป็นผู้ให้ข่าวเพียงผู้เดียว 
เชียงใหม่ประกาศ 8 มาตรการป้องกันและลดผลกระทบ PM 2.5 เกินมาตรฐานต่อเนื่อง 
    นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ออกประกาศมาตรการป้องกัน เพื่อเตรียมการและลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยให้ดำเนินการเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 9 – 11 เมษายน 2567  จึงขอให้ปฏิบัติ ดังนี้
1.    ให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งทำงานที่บ้าน (Work from Home) แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน และใช้ช่องทางการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) เป็นช่องทางในการปฏิบัติงาน
2.    ขอความร่วมมือสถานบริการ/ร้านอาหาร พิจารณาให้บริการ   ห้องปรับอากาศ เพื่อลดผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 
3.    ขอความร่วมมือให้บริษัท ห้างร้าน สถานประกอบการ พิจารณาอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือทำงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิสก์ในส่วนที่ไม่กระทบต่อกิจการบริษัทเพื่อลดการออกนอกเคหสถาน
4.    ขอความร่วมมือประชาชน และนักท่องเที่ยว ปรับลดกิจกรรมนอกบ้าน ในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน หากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ทุกครั้ง 
5.    ขอความร่วมมือกลุ่มเปราะบาง (เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว) ลดหรืองดกิจกรรมนอกบ้าน
6.    ให้หน่วยงานรัฐ พิจารณาเปิดบริการห้องลดฝุ่นให้แก่ประชาชน
7.    ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ยังมีการเรียนการสอน และไม่มีห้องลดฝุ่น พิจารณาหยุดเรียน 
8.    ให้หน่วยงานภาครัฐที่มีสวนสาธารณะในความดูแล พิจารณาปิดพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง 
สธ. ออกมาตรการ จังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM2.5 มากกว่า 100 มคก./ลบม.
   นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกแถลงการณ์มาตรการดูแลด้านสาธารณสุข เพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง จากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM2.5 มากกว่า 100 มคก./ลบม. ดังนี้
1.    ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์รายวัน เพื่อสื่อสารถึงประชาชนในการลดความเสี่ยง และออกให้ความช่วยเหลือในพื้นที่
2.    ทำการสำรวจกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง (เด็กเล็ก 0 - 5 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน โรคหืดหอบ โรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยติดเตียง) เพื่อติดตามเยี่ยมบ้าน ให้คำแนะนำ และเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ
3.    เปิดคลินิกมลพิษ/คลินิกมลพิษออนไลน์  และจัดทำห้องปลอดฝุ่นในโรงพยาบาลทุกระดับ ขณะนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีห้องปลอดฝุ่นรวม 1,466 ห้อง (ภาครัฐ 1,408 ห้อง ภาคเอกชน 58 ห้อง) และยังมีห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 416 แห่ง
4.    จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุกให้ความรู้และสนับสนุนหน้ากากอนามัยในการป้องกันตนเอง โดยในพื้นที่เชียงใหม่แจกหน้ากากไปแล้ว 153,557 ชิ้น ให้ทุกอำเภอเตรียมการสำรองเวชภัณฑ์ยา/หน้ากากป้องกันฝุ่นสำหรับผู้ป่วย เพื่อพร้อมให้การสนับสนุนทันที
5.    ถ่ายทอดความรู้การจัดทำ “มุ้งสู้ฝุ่น” ซึ่งเป็นนวัตกรรมช่วยเพิ่มพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน และประสานงาน อปท. ในการสนับสนุนมุ้งสู้ฝุ่นให้กับผู้ป่วยยากไร้ในทุกพื้นที่ โดยจังหวัดเชียงใหม่ จะเร่งผลิตให้ได้ 300 หลัง ภายใน 2 สัปดาห์ และให้เขตสุขภาพที่ 1 และ 2 (ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ) จะเร่งผลิตเพิ่มเติมอีก 600 หลัง ภายใน 2 สัปดาห์ 
6.    กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับราชวิทยาลัยและสมาคมวิชาชีพเวชกรรม กำหนดแนวทางการตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมนำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกก่อนลุกลาม
                                                                                                                             เรียบเรียง/ข่าว : ธวัลรัตน์ แดงเจริญ นักประชาสัมพันธ์
                                                                                                                                     แหล่งข้อมูล : ศูนย์ข่าว IOC กรมประชาสัมพันธ์
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ginfo
สนง.ป้องกันและปราบปราม
กยศ
e-government
มหาดไทย
พาณิชย์
เกษตร
ทรัพยากรธรรมชาติ
แรงงาน
อุตสาหกรรม
ยุติธรรม
ดิจิทัล