ความคืบหน้า Digital Wallet

          นางสาวสนิฎา ปานคงคา ผู้อำนวยการสำนักข่าว ส่วนปฏิบัติการและบริหารข้อมูลข่าวสาร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ครม. มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (กระทรวงการคลัง) เสนอ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้
เปิดเส้นทางนโยบาย Digital Wallet
•    3 ต.ค. 66 ครม. เห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการ นโยบายฯ เพื่อกำกับดูแลและขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ  ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ โดยมีหน้าที่และอำนาจ เช่น กำหนดนโยบายโครงการฯ วัตถุประสงค์โครงการฯ แนวทางการดำเนินโครงการฯ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ ในโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
•    20 ก.พ. 67 ครม. มีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายฯรับเรื่องนี้ไปพิจารณาให้ได้ข้อยุติและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
•    10 เม.ย. 67 คณะกรรมการนโยบายฯ ได้มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการฯ ในเรื่องวัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย แหล่งเงินในการดำเนินโครงการ แนวทางการร่วมโครงการฯ เงื่อนไขการใช้จ่ายประเภทร้านค้า/สินค้าเป็นต้น
•    23 เม.ย. 67 ครม. มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet 
มอบหมาย หน่วยงานผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการฯ
•    สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการฯ
•    กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบกำหนดประเภทสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ (Negative List) เงื่อนไขเกี่ยวกับร้านค้าและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ
•    สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันพัฒนาและดำเนินการระบบสำหรับโครงการฯ ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ ซึ่งรวมถึงการจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม เป็นต้น
•    คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ ซึ่งมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการ  รับผิดชอบการตรวจสอบ วินิจฉัย การเรียกเงินคืน ร้องทุกข์ กล่าวโทษ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ
กลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
    ประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย ณ เดือนที่มีการลงทะเบียนอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
เงื่อนไขการใช้จ่าย 
1.    ระหว่างประชาชนกับร้านค้า: ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด 
2.    ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า: ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กโดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า
3.    สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้าบางประเภท (Negative List) เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงบริการ
4.    ใช้จ่ายผ่าน Super App ที่พัฒนาต่อยอด โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยระบบการใช้จ่ายระหว่างประชาชนและร้านค้าเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของทุกรายการใช้จ่ายตามเงื่อนไข และมีระบบตรวจสอบธุรกรรม (Transaction)
5.    ร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการ
ใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
เม็ดเงินดำเนินโครงการฯ เพียงพอ เป็นไปตามกฎหมาย
   สำหรับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการฯ รวมเป็นเงิน 500,000 ล้านบาท ได้แก่ 
1.    เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวนประมาณ 152,700 ล้านบาท 
2.    การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ (ธ.ก.ส.) จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท 
3.    การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 
พ.ศ. 2567 จำนวนประมาณ 175,000 ล้านบาท
ระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ เปิดให้ประชาชนลงทะเบียน
    เปิดให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ภายใน ไตรมาสที่ 3 และเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 โดยรอบแรก (ประชาชนกับร้านค้า) ต้องใช้ภายใน 6 เดือน และรอบสอง (ร้านกับร้านค้า) ยังไม่มีกำหนด แต่ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะต้องไม่เกินเดือนกันยายน ปี 2569
ตั้งคณะอนุฯ ป้องกันการทุจริต
    มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางและดำเนินการตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ การเรียกเงินคืน รวมถึงการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่าง ๆ ด้วย
                                                                                                                             เรียบเรียง/ข่าว : ธวัลรัตน์ แดงเจริญ นักประชาสัมพันธ์
                                                                                                                                     แหล่งข้อมูล : ศูนย์ข่าว IOC กรมประชาสัมพันธ์


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ginfo
สนง.ป้องกันและปราบปราม
กยศ
e-government
มหาดไทย
พาณิชย์
เกษตร
ทรัพยากรธรรมชาติ
แรงงาน
อุตสาหกรรม
ยุติธรรม
ดิจิทัล