Timeline การเลือก สว. ชุดใหม่

       นางสาวสนิฎา ปานคงคาผู้อำนวยการสำนักข่าว ส่วนปฏิบัติการและบริหารข้อมูลข่าวสาร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) คาดมีผลบังคับใช้ 11 พ.ค 67 ประกาศกำหนดวันเลือกและวันรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 67 
    10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดพิเศษ 250 คนที่มาแบบพิเศษ ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีอายุครบห้าปีตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งภายใน 5 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศกำหนดวันรับสมัคร (ไม่เกิน 15 วัน) และต้องกำหนดวันรับสมัคร 5 - 7 วัน 
โดย สว. ชุดใหม่ที่เข้ามารับจะมีจำนวน 200 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม (มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น) ที่จะคัดเลือกจากระบบ “เลือกกันเอง” จากผู้สมัคร รับเลือกใน 20 กลุ่มอาชีพ ผ่านการเลือก 3 ระดับ ได้แก่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ 
*ประชาชนโดยทั่วไปจะไม่มีสิทธิเลือกผู้สมัคร
สว. ชุดเก่าหมดวาระ ระหว่างรอชุดใหม่มาทำอย่างไร
   ถึงแม้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบันจะครบวาระแล้ว แต่ยังคงรักษาการอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ และยังคงมีอำนาจเต็มอยู่ ได้แก่ 
1.    พิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย 
2.    ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน 
3.    ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 
สส. กับ สว. ต่างกันอย่างไร
•    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มาจากประชาชนเลือกมาโดยตรง มีวาระ 4 ปี ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน 
-    สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน
-    สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน 
•    สมาชิกวุฒิสภา : มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ใน 20 กลุ่มอาชีพ โดยมีวาระ 5 ปี ประกอบด้วยสมาชิก 200 คน 
ทำความเข้าใจขั้นตอนการเลือก สว. แบบเลือกกันเอง
1.    การสมัครรับเลือก สว. : ผู้สมัครรับเลือกฯ สามารถเลือกสมัครได้ 1 กลุ่มอาชีพ และ 1 อำเภอ เท่านั้น 
2.    การเลือก สว. ระดับอำเภอ : 
2.1    เลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน : ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่ม โดยเลือกตนเองได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนน ไม่ได้ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 – 5 จะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น ๆ และเข้าไปเลือกในรอบที่ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 5 คน)
2.2    เลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน : ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก ของแต่ละกลุ่ม 
จะเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ สำหรับกลุ่มนั้น 
3.    การเลือก สว. ระดับจังหวัด : 
3.1    เลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน : ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่ม โดยเลือกตนเองได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนน ไม่ได้ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 – 5 จะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้นๆ และเข้าไปเลือกในรอบที่ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 5 คน)
3.2    เลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน : ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก ของแต่ละกลุ่มจะเป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด สำหรับกลุ่มนั้น 
4.    การเลือก สว. ระดับประเทศ : 
4.1    เลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน : ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน โดยเลือกตนเองได้แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนน ไม่ได้ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 – 40 จะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น ๆ และเข้าไปเลือกในรอบที่ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 40 คน)
4.2    เลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน : ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละไม่เกิน 5 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้ โดยผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 – 10 เป็น สว. และลำดับที่ 11 – 15 อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น 
5.    ประกาศผลการเลือก สว. : เมื่อ กกต. ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการการเลือกตั้งระดับประเทศแล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้า กกต. เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยถูกต้องสุจริต และเที่ยงธรรมให้ประกาศผลการเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา
ไทม์ไลน์การเลือก สว. 67 
   ร่างพระราชกฤษฎีกา ให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และจัดทำร่างแผนการจัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา ดังนี้
•    13 พ.ค. 67 ประกาศการสมัครรับเลือก สว.
•    9 มิ.ย. 67 การเลือก สว. ระดับอำเภอ
•    16 มิ.ย. 67 การเลือก สว. ระดับจังหวัด
•    26 มิ.ย. 67 การเลือก สว. ระดับประเทศ
•    2 ก.ค. 67 ประกาศผลการเลือก สว.
ครม. อนุมัติงบฯ กลาง เพื่อดำเนินการเลือก สว.
   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แล้วแต่กรณี ภายในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 227,105,500 บาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

                                                                                                                             เรียบเรียง/ข่าว : ธวัลรัตน์ แดงเจริญ นักประชาสัมพันธ์
                                                                                                                                     แหล่งข้อมูล : ศูนย์ข่าว IOC กรมประชาสัมพันธ์
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ginfo
สนง.ป้องกันและปราบปราม
กยศ
e-government
มหาดไทย
พาณิชย์
เกษตร
ทรัพยากรธรรมชาติ
แรงงาน
อุตสาหกรรม
ยุติธรรม
ดิจิทัล