ปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและทบทวนกฎหมาย พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ พ.ศ.2558

          นางสาวเพ็ญนภา เข็มตรง รองผู้อำนวยการสำนักข่าว ส่วนปฏิบัติการและบริหารข้อมูลข่าวสาร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ครม. เห็นชอบหลักการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตาม พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 มุ่งตอบโจทย์ผู้ประกอบการและความต้องการประชาชนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วในการติดต่อขอรับบริการภาครัฐ โดยกำหนดแนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตามพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก ฯ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงระยะเวลา การพิจารณาอนุญาตและทบทวนกฎหมายให้เอื้อต่อกระบวนการพิจารณาอนุญาต  เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับการบริการจากภาครัฐที่เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายที่ถูกลงและเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจโดยกำหนดเป็นมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นแนวทางในการทบทวนระยะเวลาการดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
•    การยื่นเอกสาร ตรวจสอบความครบถ้วนของรายการเอกสารที่ผู้ขออนุญาตยื่นเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุญาต มาตรฐานระยะเวลาการให้บริการ ไม่เกิน 1 วันทำการ
•    การพิจารณา ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ขออนุญาตว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ โดยจำแนกตามลักษณะงานและความซับซ้อนของเอกสารที่ใช้ในการพิจารณา เช่น
o    การตรวจพิจารณาเอกสาร จำนวน 1-10 รายการ หรือเอกสารยืนยันตัวตน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานผู้อนุญาต ไม่เกิน 2 วันทำการ
o    การตรวจสอบสถานที่ ไม่เกิน 15 วันทำการ
o    การตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์/เครื่องจักร ไม่เกิน 2 วันทำการ
o    การตรวจสอบองค์กรโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน  ไม่เกิน 15 วันทำการ
o    การพิจารณาโดยคณะกรรมการ ไม่เกิน 29 วันทำการ
•    การลงนามหรือคณะกรรมการมีมติ เป็นขั้นตอนที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายลงนามในใบอนุญาต
มาตรฐานระยะเวลาการให้บริการ ไม่เกิน 1 วันทำการ
การแบ่งกลุ่มกระบวนงานเพื่อปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตเป็น 2 กลุ่ม 
1. กลุ่มกระบวนงานที่มีผลกระทบสูง เป็นกระบวนงานสำคัญหรือมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก รวมถึงกระบวนงานที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน จำนวน 31 กระบวนงาน
   กระบวนงานที่สนับสนุนด้านการลงทุน/ประกอบกิจการ
1.    การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/ขยายโรงงาน (กรมโรงงานอุตสาหกรรม)
2.    การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร (กรมโรงงานอุตสาหกรรม)
3.    การทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (กรมวิทยาศาสตร์บริการ)
4.    การขึ้นทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร (อย.)
5.     การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนตำรับยา (อย.)
6.    การจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง (สคบ.)
7.    การขอผ่อนผันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) (กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน)
8.    การขออนุญาตและแก้ไขรายการผลิตภัณฑ์อาหาร (อย.)
9.    การขออนุญาตการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ)
10.    การขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
11.    การรังวัดสอบเขต แบ่งแยก รวมโฉนดที่ดินหรือตรวจสอบเนื้อที่แบ่งแยก รวมหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (กรมที่ดิน)
12.    การจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ (กรมที่ดิน)
13.    การขอตรวจสอบหลักฐานทะเบียนที่ดินหรือห้องชุด(กรมที่ดิน)
14.    การแจ้งขุดดิน/ถมดิน (กรมโยธาธิการและผังเมือง)
15.    การขอรับใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
16.    การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (กรมทรัพย์สินทางปัญญา)
17.    การต่ออายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (กรมทรัพย์สินทางปัญญา)
   กระบวนงานที่สนับสนุนด้านการนำเข้าและการส่งออก
18.    การขอรับชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร 
19.    การขออนุญาตนำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักร 
20.    การขออนุญาตนำสัตว์หรือซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร (กรมปศุสัตว์)
21.    การขออนุญาตให้เป็นผู้นำของเข้า ผู้ส่งออกของ (กรมศุลกากร)
กระบวนงานที่สนับสนุนด้านการท่องเที่ยว
22.    การออกใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (กรมการท่องเที่ยว)
23.    การเลิกประกอบกิจการธุรกิจนำเที่ยวและขอรับคืนหลักประกัน (กรมการท่องเที่ยว)
24.    การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม (กรมการปกครอง)
กระบวนงานที่สนับสนุนด้านแรงงาน
25.    การขอใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ(กรมการจัดหางาน)
26.    การขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน)
กระบวนงานที่สนับสนุนภาคการเกษตร
27.    การขึ้นทะเบียนเกษตรกร (กรมส่งเสริมการเกษตร)
28.    การขอรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ (กรมวิชาการเกษตร)
29.    การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (กรมประมง)

กระบวนงานที่สนับสนุนการวางรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคม
30.    การขออนุญาตให้ชาวต่างชาติประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา)
31.    การขอความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ (สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)
กรณีตัวอย่าง (ข้อ 11)
       การติดต่อสำนักงานที่ดินเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน ในอดีตไม่มีกรอบเวลาระบุไว้ชัดเจนว่าการดำเนินการมีทั้งหมดกี่ขั้นตอน แต่ละขั้นตอนใช้เวลาเท่าไหร่ ทำให้การติดต่อใช้เวลานานข้ามปี และไม่ชัดเจนว่าถึงขั้นตอนไหน แต่ในอนาคตจะมีกรอบเวลาชัดเจน เช่น  การตรวจสอบเอกสารต้องไม่เกิน 2 วันทำการ การตรวจสอบสถานที่ไม่เกิน 15 วันทำการ 
กรณีตัวอย่าง (ข้อ 24)
       นาย ก. ดำเนินการขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ต้องติดต่อหลายหน่วยงานที่อยู่ภายในส่วนราชการเดียว เช่น ด้านโครงสร้างติดต่อโยธา ด้านระบบระบายน้ำ ติดต่อสิ่งแวดล้อม หรือการจดทะเบียนอื่น ๆ ในอนาคตจะมีคู่มือที่กำหนดชัดเจนว่าต้องไปติดต่อส่วนงานไหนบ้าง แต่ละจุดใช้เวลาเท่าไหร่ หรืออาจเป็น One Stop Service รวมทั้งการแจ้งผู้มาติดต่อราชการกรณีเกิดปัญหาอย่างรวดเร็ว 
2. กลุ่มกระบวนงานทั่วไป เป็นการส่งเสริมการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตในกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต การจดทะเบียน หรือการแจ้ง โดยปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตทบทวนกระบวนงานและปรับลดระยะเวลาการดำเนินการลงร้อยละ 30-50 
แนวทางการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต
•    พิจารณายุบเลิก ยุบรวมขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน 
•    ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่กำหนดระยะเวลาในการอนุญาตและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการบริการของหน่วยงาน
•    นำมาตรฐานระยะเวลาการให้บริการตามผลการศึกษาของสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นเป้าหมายในการพิจารณาปรับลดระยะเวลาการดำเนินการ
•    ปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนให้สอดคล้องกับการปรับปรุงระยะเวลาการดำเนินการ
•    ปรับลดระยะเวลาการพิจารณาอนุญาต ซึ่งต้องไม่กระทบต่อคุณภาพการให้บริการและกรณีกระบวนงานใดที่หน่วยงานไม่สามารถลดระยะเวลาการให้บริการลงได้อีกหรือมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการให้รายงานไปยังสำนักงาน ก.พ.ร. ทราบ
    อย่างไรก็ตามหลักการปรับปรุงระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและการทบทวนกฎหมายตาม พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 สอดคล้องกับแนวคิดของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มีการกล่าวถึง ในงานเสวนา BETTER THAILAND open dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า ในหัวข้อ "สังคมยุคใหม่ กฎหมายทันสมัย ระบบราชการทันโลก แก้คอรัปชั่นทันที" ว่า ทำอย่างไรให้ระบบราชการมันรวดเร็ว ไม่โกง ซึ่งทำได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาความร่วมมือและความหนักแน่นเข้มแข็งในการตัดสินใจ มีด้วยกันทั้งหมด 3 แนวทาง 
•    มาตรการทางบริหาร ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ ทุ่นแรง ทุ่นเวลา ทุ่นงบประมาณไปเยอะ 
•    มาตรการทางปกครอง คือ ต้องพัฒนาบุคลากร เปลี่ยนทัศนคติให้รู้ว่าการทำงานยุคสมัยนี้ ต้องให้บริการประชาชน 
•    มาตรการทางกฎหมาย มีหลักนิติธรรม แปลว่า ใช้กฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่ตามอำเภอใจ 
    นายวิษณุ กล่าวว่า พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ พ.ศ. 2558มุ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขออนุญาตกับทางภาครัฐ พ.ร.บ.นี้กำหนดให้ส่วนราชการทุกแห่ง ต้องทำคู่มือการติดต่อราชการให้ชาวบ้านรู้ว่าต้องติดต่อที่ไหน ผ่านโต๊ะใดบ้าง หากขออนุญาตต้องระบุว่าใช้เวลาเท่าใดจึงจะตอบกลับ หากครบกำหนดแล้วยังไม่ได้รับคำตอบ จะโดนเอาผิดหรือถ้ายังไม่เสร็จต้องออกหนังสือแจ้งประชาชนก่อน ไม่เช่นนั้นจะมีความผิด
    นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนอีกหลายฉบับ เช่น
- พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
- พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม
- ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย
- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
- ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
แนวทางการสื่อสาร
•    ยกตัวอย่าง ปัญหาการติดต่อราชการในอดีต เช่น การติดต่อเรื่องที่ดิน / การขออนุญาตตั้งโรงงาน ไม่มีกรอบเวลาในการให้บริการชัดเจน เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต เกิดผลกระทบในการดำเนินธุรกิจ เสียโอกาสในการทำธุรกิจยังไง
•    การปรับปรุงระเบียบตรงนี้ จะเกิดประโยชน์ยังไง เช่น มีกรอบเวลาในการติดต่อชัดเจน มีขั้นตอนในการติดต่อชัดเจน ประชาชนรู้ว่า ติดขัดอะไร ขั้นตอนไหน 
•    สื่อสารให้เห็นความพยายามในการปรับปรุงกฎหมาย / ระเบียบ ราชการเพื่อให้ทันยุคสมัย
                                                                                                                             เรียบเรียง/ข่าว : ธวัลรัตน์ แดงเจริญ นักประชาสัมพันธ์
                                                                                                                                          แหล่งข้อมูล : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
ginfo
สนง.ป้องกันและปราบปราม
กยศ
e-government
มหาดไทย
พาณิชย์
เกษตร
ทรัพยากรธรรมชาติ
แรงงาน
อุตสาหกรรม
ยุติธรรม
ดิจิทัล